ผลทางโลหิตวิทยาที่เกิดขึ้นได้จากการฉีดวัคซีนโควิด-19
แพทย์หญิงกาญจน์หทัย เชียงทอง
สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อ SARS-CoV-2 ได้กลายเป็นโรคระบาดในโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 อาการแสดงของการติดเชื้อ ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ จนถึง ปอดอักเสบรุนแรง เสียชีวิตได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรง คือ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับ ปอด หัวใจ โรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์
วัคซีนต่อเชื้อโควิด-19ได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ ในปัจจุบันมีวัคซีนหลายชนิด ได้แก่ วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม และวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่เพิ่งได้นำมาใช้ อาจพบอาการข้างเคียงได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยานั้นเป็นอาการข้างเคียงหนึ่งที่พบได้จากวัคซีนโควิด
ผลทางโลหิตวิทยาจากวัคซีนโควิด-19 พบภาวะใดบ้าง?
1. การเกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ (Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia,VITT) เป็นภาวะการอุดตันของหลอดเลือดพบร่วมกับการมีเกล็ดเลือดต่ำพบตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19ที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ อุบัติการณ์พบ 1 ใน 125,000 ถึง 1 ใน 1,000,000 ของการได้รับวัคซีน พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ภายหลังจากการได้รับวัคซีน 5-20 วัน ตำแหน่งของหลอดเลือดที่อุดตัน ได้แก่ หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดในช่องท้อง หลอดเลือดของปอด และพบเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งอาการแสดงขึ้นกับตำแหน่งของการอุดตันของหลอดเลือด ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง การมองเห็นผิดปกติ หายใจลำบาก หายใจเร็ว แน่นหน้าอก ปวดท้อง เป็นต้น สาเหตุเกิดจากการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือแอนติบอดีต่อโปรตีนที่ปล่อยจากเกล็ดเลือด
ภาพแสดง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง แสดงภาวะการอุดตันของหลอดเลือดสมอง และพบเลือดออกในสมอง
2. เกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenia)
มีรายงานพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำภายหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19ชนิดสารพันธุกรรม ภายหลังการได้รับวัคซีนที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการ มีเลือดออก รอยช้ำ จุดจ้ำเลือด เกิดสาเหตุจากการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเกล็ดเลือด
ภาพแสดง จุดเลือดออก และจ้ำเลือดที่ผิวหนัง
3. เม็ดเลือดขาวต่ำ
จากการศึกษาเก็บข้อมูลภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ อย่างไรก็ดียังไม่มีการรายงานถึงความสำคัญทางคลินิกที่เกิดขึ้นอาการข้างเคียงทางโลหิตวิทยจากวัคซีนโควิด-19นั้น พบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเมื่อเทียบระหว่างประโยชน์และผลข้างเคียงแล้วนั้น ผบว่าการได้รับวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าการไม่ได้รับวัคซีน