ภาวะแฝงธาลัสซีเมีย คืออะไร ต้องทำอย่างไร
รศ.นพ.บุญชู พงศ์ธนากุล
สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (thalassemia disease) เป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของการสร้างสารฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดงปริมาณลดลง หรือคุณภาพของสารฮีโมโกลบินผิดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างลักษณะผิดปกติ และเม็ดเลือดแดงแตกง่าย ก่อให้เกิดอาการซีดเรื้อรัง เหนื่อยง่าย ตัวเหลืองตาเหลือง ร่างกายพยายามสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่มาทดแทน ทำให้ ตับม้ามโต ไขกระดูกซึ่งเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดแดงต้องทำงานมากกว่าปกติ ไขกระดูกขยายตัว ทำให้กระดูกใบหน้าเปลี่ยน จมูกแบน โหนกแก้มสูง คางและขากรรไกรกว้างใหญ่ ฟันบนยื่น นอกจากนี้ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย มีภาวะการเจริญเติบโตไม่สมวัย ตัวเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีอาการซีดมาก ซึ่งในผู้ป่วยที่ซีดมาก จำเป็นต้องรับเลือดเป็นประจำ ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการรุนแรงของโรคที่หลากหลาย ตั้งแต่ผู้ป่วยที่มีอาการซีดมากตั้งแต่อายุน้อย ต้องได้รับการรักษาด้วยการรับเลือดเป็นประจำ จนถึงผู้ป่วยที่มีอาการซีดเล็กน้อยจนแยกจากคนปกติได้ยาก ถ้าไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรค โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย (autosomal recessive)กล่าวคือ พ่อและแม่ของผู้ที่เป็นโรคนี้มียีนธาลัสซีเมียแฝงอยู่ทั้งคู่ ซึ่งผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียแฝง (thalassemia trait) นี้จะไม่มีอาการของโรคนี้ จะเหมือนคนปกติ แต่สามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกตินี้สู่ลูกหลานได้ (ภาพที่ 1) ซึ่งในประเทศไทยมีคนที่มีโอกาสมียีนธาลัสซีเมียแฝงอยู่ถึงร้อยละ 30-40 เพราะฉะนั้น คู่สมรสที่ต้องการมีบุตร โดยเฉพาะ ผู้ที่มีบุตรหรือมีญาติที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียมาก่อน ควรตรวจคัดกรองก่อนตั้งครรภ์ว่า มียีนแฝงของธาลัสซีเมียหรือไม่ เพื่อการวางแผนการตั้งครรภ์และตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดได้
ภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียคืออะไร
ภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย สามารถพูดอีกแบบหนึ่งว่า พาหะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคพันธุกรรม ภาวะแฝงทางพันธุกรรมนั้นเป็นลักษณะข้อมูลชนิดหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย ข้อมูลหรือรหัสพันธุกรรมเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและสามารถจะถ่ายทอดรหัสทางพันธุกรรมดังกล่าวต่อไปยังให้บุตรได้ และบุตรก็ยังสามารถส่งผ่านรหัสพันธุกรรมดังกล่าวต่อไปยังหลานต่อไปในอนาคตตได้ ตัวอย่างของรหัสทางพันธุกรรมที่เห็นได้ชัดเจนคือ สีผม ถ้าบิดาหรือมารดามีผม หรือ ตาสีดำ บุตรก็มักจะมีผมหรือตาเป็นสีดำ เช่นเดียวกัน ภาวะแฝงหรือพาหะโรคโลหิตจางธารลัสซีเมียนั้น ไม่ถือว่าเป็นโรค แต่หมายความว่า คนนั้นถือรหัสทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่ท่านสามรถที่จะถ่ายทอดไปให้ยังบุตรหลานต่อไปได้ในอนาคต นอกจากนี้คำว่า “พาหะ” ของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียยังแตกต่างจากพาหะของโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น พาหะไข้เลือดออก ที่มาจากยุงลาย เป็นต้น เพราะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียไม่ใช่โรคติดเชื้อ
บางคนเข้าใจว่าภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียว่า “เป็นโรค” ทำให้เข้าใจผิดว่าคน ๆ นั้นมีโรคจะจะเป็นปัญหาและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในภายหลังได้ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง โดยหลักพันธุกรรมของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ภาวะแฝง ไม่ถือว่าเป็นโรค เพียงแต่ภาวะแฝงหรือเป็นพาหะนั้น สามารถที่จะถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียต่อเนื่องไปให้ยังลูกหลานของตนเองได้เท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลทำให้เกิดโรคแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่มีภาวะแฝง
ภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย แบ่งเป็น 2 ชนิด ตามความผิดปกติของความผิดปกติของการสร้างสารฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง ซึ่งสารฮีโมโกลบินจะประกอบด้วยกลุ่มของโปรตีนที่สำคัญ 2 ชนิดที่เรียกว่า อัลฟ่าและเบต้าโกลบิน ซึ่งโปรตีนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยยีน หรือรหัสทางพันธุกรรม เมื่อมีความผิดปกติของยีนหรือรหัสพันธุกรรมของโปรตีนเหล่านี้ตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัว ก็จะทำให้เกิดผิดปกติในแง่ของการสร้างสารฮีโมโกลบินที่มีปริมาณลดลงหรือที่ผิดปกติไป เมื่อมีความผิดปกติของยีนเบต้าหรืออัลฟ่าโกลบินเพียวตัวใดตัวหนึ่ง ภาวะดังกล่าวจะเรียกว่า “ภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” ผลที่เกิดขึ้นทำให้มีการลดลงของการสร้างสารฮีโมโกลบินเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ภาวะแฝงอัลฟ่าธาลัสซีเมีย เกิดจากการขาดหายไปของยีนอัลฟ่าโกลบินเพียง 1 หรือ 2 ยีน ซึ่งในคนปกติจะมียีนอัลฟ่าโกลบิน ยีน ส่วนภาวะแฝงเบต้าธาลัสซีเมีย เกิดจากการขาดหายไปของยีนเบต้าโกลบิน เพียง 1 ยีน ซึ่งในคนปกติจะมียีนเบต้าโกลบิน 2 ยีน ในประเทศไทย มีคนที่เป็นภาวะแฝงอัลฟ่าธาลัสซีเมีย ประมาณ 15-20%ในขณะที่มีคนที่เป็นภาวะแฝงเบต้าธาลัสซีเมียประมาณ 3-5%
การตรวจหาภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
การตรวจหาภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียขั้นต้น คือ การตรวจประเมินขนาดของเม็ดเลือดแดงโดยการตรวจเม็ดเลือดสมบูรณ์ (complete blood count: CBC) ซึ่งสามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาล การประเมินขนาดของเม็ดเลือดแดง (mean corpuscular volume: MCV) เป็นการวัดขนาดของเม็ดเลือดแดงว่ามีขนาดเล็กหรือใหญ่ โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย จะมีขนาดเม็ดเลือดแดงเล็กกว่าปกติ ถ้าพบว่าเม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กกว่าปกติ โดยที่ไม่มีภาวะซีดร่วมด้วย ก็ทำให้สงสัยภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน โดยการตรวจชนิดฮีโมโกลบินและการดูปริมาณฮีโมลโกลบิน (hemoglobin typing) ภาพที่ 2ซึ่งจะทำให้สามารถวินิจฉัย ภาวะแฝงเบต้าธาลัสซีเมีย ส่วนการวินิจฉัยภาวะแฝงอัลฟ่าธาลัสซีเมีย การตรวจชนิดฮีโมโกลบินและการดูปริมาณฮีโมลโกลบิน จะปกติ จึงจำเป็นต้องตรวจถึงระดับสารพันธุกรรมหรือ ดีเอ็นเอ ของยีนอัลฟาโกลบิน เพื่อให้การวินิจฉัยให้แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถพบผู้ที่เป็นภาวะแฝงของทั้งอัลฟ่าและเบต้าธาลัสซีเมียร่วมกันในคน ๆ เดียวกันได้ การตรวจวินิจฉัย จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทั้งชนิดฮีโมโกลบินและการดูปริมาณฮีโมลโกลบิน ร่วมกับ ตรวจถึงระดับสารพันธุกรรมหรือ ดีเอ็นเอ ของยีนอัลฟาและเบต้าโกลบิน ร่วมกัน เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
การปฏิบัติตัวและการดูแลผู้ที่เป็นภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
เนื่องจากภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นเพียงความผิดปกติในระดับพันธุกรรมและไม่มีผลต่อการเกิดโรค ดังนั้นผู้นั้นจะไม่มีอาการซีด หรืออาการที่รุนแรงขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงกลายไปเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่จำเป็นต้องได้รับเลือด หรือการรักษาใด ๆ ซึ่งผู้ที่เป็นแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือพาหะธาลัสซีเมีย จะไม่มีอาการและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หรือวิตามินเสริมใด ๆ
แม้ว่าภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียจะไม่มีอาการและไม่มีผลอย่างใดโดยตรงต่อสุขภาพ แต่เนื่องจากผู้มีภาวะแฝงสามารถส่งต่อรหัสพันธุกรรมของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียไปให้ยังลูกหลานของตนเองได้ในอนาคต ซึ่งในกรณีที่ผู้ที่เป็นแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย 2 คน มาแต่งงานและวางแผนจะมีบุตร คู่สมรสนั้น จะมีโอกาสมีบุตรเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียได้ 25% ของทุกการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซียชนิดรุนแรงได้ นอกจากนี้ถ้ามีคนที่เป็นแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และมีความต้องการที่จะตั้งครรภ์ หรือ ตั้งครรภ์อยู่แล้ว คู่สมรสสามารถตรวจยืนยันได้ว่าเป็นภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือไม่ และถ้าทั้งคู่มีภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดที่ตรงกัน กล่าวคือ ภาวะแฝงชนิดอัลฟ่ากับอัลฟ่าธาลัสซีเมีย ภาวะแฝงชนิดเบต้ากับเบต้าธาลัสซีเมีย จะได้มีการประเมินความเสี่ยงของการที่จะมีบุตรเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และมีการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ได้ว่ามีโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการดูแล หรือยุติการตั้งครรภ์ต่อไป
ภาพที่ 1 การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
1 ใน 4 ปกติ 2 ใน 4 มีภาวะยีนธาลัสซีเมียแฝง 1 ใน 4 เป็นโรค
ภาพที่ 2 การตรวจชนิดฮีโมโกลบินและการดูปริมาณฮีโมลโกลบิน (hemoglobin typing)