ความรู้สู่ประชาชน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในโพรงจมูก

                            อ. นพ.ธิติ อัศวภาณุมาศ

         สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

                                                                                                                         คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนับเป็นโรคมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับที่ 8 ของประเทศไทย โดยพบได้ถึง 7,000 รายต่อปี (หรือประมาณ 3.7% ของมะเร็งทั้งหมด) และพบในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิงประมาณ 1.3 เท่า อย่างไรก็ตามมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางส่วนสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรักษาในปัจจุบัน และมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ

           อาการของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นพบว่า ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อีกทั้งยังสามารถตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ ช่องอก ช่องท้อง เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองประมาณ 30% จะมาพบแพทย์ด้วยอาการมีก้อนขึ้นผิดปกติตามอวัยวะต่าง ๆ นอกเหนือจากต่อมน้ำเหลือง เช่น ทางเดินอาหาร ผิวหนัง โพรงจมูก เป็นต้น (ดังรูปแสดง)

           ในผู้ป่วยรายที่มีก้อนขึ้นในโพรงจมูกนั้นควรสังเกตตนเองว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น หายใจไม่สะดวก น้ำมูกข้นหรือมีเลือดปน หายใจหรือพูดมีกลิ่นปาก หรือพูดไม่ชัด ในกรณีที่ก้อนมีขนาดโตมากขึ้นนั้นอาจพบก้อนหรือแผลภายนอกโพรงจมูกได้ หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อทำการวินิจฉัย โดยแพทย์จำเป็นต้องนำชิ้นเนื้อในบริเวณโพรงจมูกไปตรวจสอบลักษณะทางพยาธิสภาพ หรือในกรณีที่มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงโตนั้น แพทย์ก็สามารถนำเอาชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองไปทำการวินิจฉัยได้เช่นเดียวกัน

           หลังจากที่แพทย์ทราบผลชิ้นเนื้อเบื้องต้นและหากมีแนวโน้นว่าชิ้นเนื้อดังกล่าวเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น แพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วยใน2 หัวข้อ

  1. การประเมินการกระจายของตัวโรค โดยวิเคราะห์ว่ามะเร็งมีเฉพาะบริเวณโพรงจมูกหรือกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่น ๆ หรือไม่ โดยมีการตรวจดังนี้
    • การเจาะไขกระดูกเนื่องจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางส่วนสามารถกระจายเข้าสู่ไขกระดูกได้จึงมีความจำเป็นในเจาะเพื่อวางแผนการรักษา โดยการเจาะนั้นผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แพทย์สามารถทำการฉีดยาชาและเจาะบริเวณก้นกบของผู้ป่วย ซึ่งใช้เวลาเพียง 5-10 นาที และนอนพักเพื่อดูอาการประมาณ 20-30 นาที
    • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินต่อมน้ำเหลืองทั้งบริเวณโพรงจมูกและในตำแหน่งอื่น ๆ ทั้งก่อนและหลังการรักษา เพื่อใช้ประเมินการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต หากมีความจำเป็นต้องใช้การรักษาอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย
  2. การประเมินความพร้อมการได้รับการรักษา โดยแพทย์จะทำการประเมินความพร้อมของผู้ป่วย เช่น โรคประจำตัว การทำงานของหัวใจ ตับ ไต รวมไปถึงการตรวจการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น

           ในปัจจุบันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถแยกย่อยได้หลายร้อยชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีการพยากรณ์โรค รวมถึงวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่การรักษาจะประกอบไปด้วยการให้ยาเคมีบำบัด หรืออาจมีการฉายแสงร่วมด้วย

           ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในช่วงต้นการรักษาผู้ป่วยอาจจะอาการคลื่นไส้ อาเจียน  ผมร่วง ภายหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด ในบางรายอาจพบอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน หายใจติดขัด อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียงดังกล่าวสามารถบรรเทาได้ แต่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องพึงระมัดระวังมากที่สุดคือ การติดเชื้อหลังได้รับยาเคมีบำบัด เนื่องจากหลังจากการได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยมีปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ลดลง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เช่น การรักษาสุขอนามัยภายในบ้าน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารหมัก ดอง หรืออาหารที่ตั้งทิ้งไว้เป็นเวลานาน และควรหลีกเลี่ยงผลไม้เปลือกบาง เป็นต้น

           ในปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีการพัฒนาขึ้นมากทำให้ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาสามารถหายขาดจากโรคได้ ในผู้ป่วยที่ตอบสนองไม่ดีหรือโรคกลับมาเป็นซ้ำนั้นสามารถทำการใช้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ โดยวิธีดังกล่าวสามารถรักษาผู้ป่วยได้ดีในระยะยาวเช่นเดียวกัน

    

หัวข้ออื่นที่น่าสนใจ