ความรู้สู่ประชาชน

เกล็ดเลือดต่ำเกิดจากอะไร

พญ.หรรษมน โพธิ์ผ่าน

หน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  รพ.จุฬาลงกรณ์

            ในระบบไหลเวียนเลือดของคนเรานั้นประกอบไปด้วยน้ำเลือด(พลาสมา) สารที่ก่อให้เกิดการแข็งตัวของเลือดชนิดต่างๆ และส่วนประกอบที่เรียกว่าเม็ดเลือด โดยเม็ดเลือดนั้นแบ่งออกเป็น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

เกล็ดเลือดมีหน้าที่อย่างไร

               เกล็ดเลือดของคนเรานั้นมีหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลได้เมื่อเกิดบาดแผลหรือมีเลือดออก โดยที่เมื่อร่างกายมีบาดแผลหรือมีการฉีดขาดของหลอดเลือด เยื่อบุผิวหลอดเลือดจะมีการหลั่งสารบางอย่างเพื่อกระตุ้นเกล็ดเลือดจำนวนมากให้มารวมตัวเกาะกลุ่มกันที่บริเวณรอยฉีดขาดนั้น แล้วกระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวของเลือด เกิดเป็นลิ่มเลือดอุดบริเวณบาดแผลทำให้เลือดหยุดไหลได้

 

               ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกล็ดเลือดต่ำ หรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ จะมีอาการเลือดออกง่าย เลือดออกเอง มีอาการฟกช้ำง่ายแม้ไม่มีการกระทบกระแทก หรือเมื่อเลือดออกแล้วจะหยุดยากกว่าปกติ โดยเฉพาะตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา ตลอดจนใต้ชั้นผิวหนัง เห็นเป็นจุดจ้ำเลือด หรือรอยฟกช้ำตื้นๆได้

เกล็ดเลือดต่ำเกิดจากอะไร

               ปกติคนเราจะมีเกล็ดเลือดอยู่ประมาน 150,000– 450,000 ตัวต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบากศ์มิลลิเมตร (150,000-450,000/mm3) โดยที่เกล็ดเลือดของเรานั้นจะถูกสร้างจากเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ภายในไขกระดูกที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นโรงงานสร้างเม็ดเลือดทุกชนิด

เกล็ดเลือดต่ำนั้นไม่ใช่โรคแต่เป็นภาวะที่เกิดจากโรค จึงจำเป็นจะต้องหาสาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำหรือก็คือการหาโรคนั่นเอง โดยที่ “ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ” อาจเกิดได้จาก ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้ลดลง หรือเกล็ดเลือดถูกสร้างมาได้ปกติ แต่ถูกทำลายหรือถูกใช้ไปมากกว่าปกติ ทำให้เมื่อเจาะเลือดพบว่าเกล็ดเลือดลดลง

  1. เกล็ดเลือดต่ำจากการสร้างได้ลดลง มักเกิดจากโรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก เช่น
  2. กลุ่มโรคไขกระดูกฝ่อ ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือมาเป็นภายหลัง โดยกลุ่มที่เป็นแต่กำเนิดบางกลุ่มอาจจะมีความผิดปกติของร่างกายร่วมด้วย เช่น ตัวเล็กผิดปกติ มีความผิดปกติของกระดูกแขนหรือนิ้ว ส่วนกลุ่มที่เป็นภายหลังมักเกิดจากการสัมผัสสารเคมี ยาฆ่าแมลงหรือติดไวรัสบางชนิด หรือไขกระดูกฝ่อในผู้สูงอายุ

  • กลุ่มโรคที่มีสิ่งผิดปกติในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคทางพันธุกรรมชนิด storage disease ซึ่งมักมีภาวะซีด ติดเชื้อง่าย ตับม้ามและต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย
  • ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้ลดลงจากเหตุอื่นๆ เช่น ผลของยาบางชนิด และการติดเชื้อไวรัส
  • เกล็ดเลือดต่ำจากการถูกทำลายหรือถูกใช้ไปมากกว่าปกติ โดยอาจเกิดจาก
  • การถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันของร่างกายภายหลังการติดเชื้อไวรัสหรือได้รับวัคซีน หรือที่รู้จักกันว่าโรค ITP
  • โรคความผิดปกติของภูมิคุ้มกันของตนเอง (autoimmune disease)
  • การที่ถูกใช้ไปเพื่อการหยุดเลือดจากการที่มีเลือดออกรุนแรง หรือใช้ไปเมื่อมีการติดเชื้อรุนแรงในร่างกาย
  • เนื้องอกหลอดเลือดบางชนิด โดยในกลุ่มนี้จะพบก้อนที่มีสีแดงช้ำร่วมด้วย (ดังแสดงในภาพ)

ดังนั้นถ้าหากมีอาการของเกล็ดเลือดต่ำดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อเจาะดูจำนวนเกล็ดเลือด หาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป