ความรู้สู่ประชาชน

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเลือดออกง่าย

                                                                                                        รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล

                    สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ 

   คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาวะเลือดออกง่ายหยุดยากเกิดจากสาเหตุอะไร

            เกิดได้จากการที่มีกลไกการห้ามเลือดที่ผิดปกติ ได้แก่ ความผิดปกติของผนังหลอดเลือด (blood vessel wall) ปริมาณและคุณภาพของเกล็ดเลือด (platelets) และปัจจัยการแข็งตัวของเลือดต่างๆ (coagulation factors) ที่มีปริมาณลดลง ที่ก่อให้มีปัญหาเลือดออกง่ายหยุดยาก ได้ทั้งทางผิวหนัง โดยเห็นเป็นรอยช้ำ หรือจุดเลือดออก หรือภายในอวัยวะต่างๆ ได้

โรคหรือภาวะอะไรบ้างที่ก่อให้มีเลือดออกง่ายหยุดยาก

มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1.โรคหรือภาวะเกี่ยวกับจำนวนของเกล็ดเลือดต่ำ หรือ ทำงานผิดปกติ ได้แก่ โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (immune thrombocytopenia; ITP) โรคไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) การได้รับยาเคมีบำบัด (chemotherapy drugs) ที่มีการกดไขกระดูกทำให้มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ หรือการรับประทานยาบางชนิดในกลุ่มแอสไพริน หรือ และยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน ที่ทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดได้ไม่ดีทำให้เลือดออกง่ายขึ้น หรือโรคเลือดออกง่ายที่เป็นชั่วคราว ที่เกิดจากการทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ เช่น acquired platelet dysfunction with eosinophilia เป็นต้น

2. โรคหรือภาวะเกี่ยวกับปัจจัยการแข็งตัวของเลือดต่างๆ ที่มีปริมาณลดลง ได้แก่ โรคฮีโมฟีเลียเอ (hemophilia A) และ โรคฮีโมฟีเลียบี (hemophilia B) ที่เกิดจากการขาดแฟคเตอร์แปดและเก้า ตามลำดับ โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand disease; vWD) หรือการรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ ยาวาร์ฟาริน (warfarin)

 

อาการเลือดออกที่เกิดจากเกล็ดเลือดต่ำเป็นอย่างไร

อาการเลือดออกตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และ จุดจ้ำเลือด/ฟกช้ำตามตัว อาการแสดงของเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน/ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายสีดำ อาการแสดงของเลือดออกในสมอง ได้แก่ ปวดศีรษะ อาเจียนมาก ซึม ชัก ตามัว หรือ แขนขาอ่อนแรง/ขยับได้ไม่เท่ากัน

รูปที่ 1 จ้ำเลือด/ฟกช้ำตามตัวง่าย

อาการเลือดออกที่เกิดจากปัจจัยการแข็งตัวของเลือดต่างๆ ต่ำเป็นอย่างไร

อาการเลือดออกในข้อ ได้แก่ ปวดหรือตึงบริเวณข้อ ขยับข้อไม่ได้หรือขยับแล้วติด ข้อบวมกว่าอีกข้าง หรือ ข้ออุ่นขึ้น อาการเลือดออกในกล้ามเนื้อ ได้แก่ รู้สึกปวด ตึงบริเวณกล้ามเนื้อ บวม จับแล้วรู้สึกอุ่นขึ้น ขยับกล้ามเนื้อนั้นไม่ค่อยได้ หรือขยับแล้วปวด ลงน้ำหนักไม่ได้ อาการแสดงของเลือดออกในทางเดินอาหารหรือในสมองดังกล่าวข้างต้น

รูปที่ 2 เลือดออกในข้อเข่าด้านช้าย

ข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันมิให้มีภาวะเลือดออกง่ายได้อย่างไร

  1. ควรมีการออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เพื่อให้กล้ามเนื้อและรอบข้อแข็งแรง เพื่อมิให้มีเลือดออกในข้อหรือกล้ามเนื้อ เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว ขี่จักรยาน แบดมินตัน เป็นต้น ควรเลือกเสื้อผ้าให้เด็กอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะโรคฮีโมฟีเลีย เสื้อและกางเกงของผู้ป่วยโรคนี้ควรบุด้วยฟองน้ำบริเวณตำแหน่งของข้อศอกหรือข้อเข่า เพื่อป้องกันการกระทบกระแทกซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกิดภาวะเลือดออกในข้อได้บ่อย
    • วิธีปฏิบัติง่ายๆ สำหรับการออกกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า

      • เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าเบาๆ โดยเกร็งค้างไว้ แล้วนับ 1-5 ทำซ้ำ รอบละ 10 ครั้ง

      • ใช้หมอนหรือผ้าขนหนูนุ่มๆ วางรองไว้ใต้หัวเข่า ให้นิ้วเท้าตั้งขึ้นตรงโดยที่ให้หัวเข่าเหยียดตรง แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1-5 ทำซ้ำ รอบละ 10 ครั้ง

      • เริ่มยกขาขึ้นตรง เกร็งค้างไว้ นับ 1-5 ทำซ้ำ รอบละ 10 ครั้ง

      • ให้ผู้ป่วยนั่งบนเก้าอี้ และยกเหยียดเข่าทำมุม 90 องศา

    • วิธีปฏิบัติที่ 2 ขั้นตอนการออกกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า

      • เริ่มออกกำลังโดยการกระดกข้อเท้าขึ้นลง และหมุนข้อเท้าเข้าและออกเองเป็นวงกลม

      • ยืนโดยลงน้ำหนักบนนิ้วเท้า นาน 2-5 นาที

      • วิ่งเหยาะๆ อยู่กับที่ นาน 5 นาที

      • มือจับที่ราวบันไดให้แน่น และยืนบนขอบของบันไดโดยให้ส้นเท้าพ้นออกจากขอบขึ้นบันได ลำตัวตั้งตรงและยกส้นเท้าขึ้นและลงอย่างช้าๆ

  2. ควรเลือกเสื้อผ้าให้เด็กอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะโรคฮีโมฟีเลีย เสื้อและกางเกงของผู้ป่วยโรคนี้ควรบุด้วยฟองน้ำบริเวณตำแหน่งของข้อศอกหรือข้อเข่า เพื่อป้องกันการกระทบกระแทกซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกิดภาวะเลือดออกในข้อได้บ่อย
  3. ควรสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งในขณะขี่จักรยานหรือจักรยานยนต์
  4. ควรไปตรวจฟันจากทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เหมือนเด็กปกติทั่วไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคฟันผุ ควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่มมากเพื่อลดปัญหาการทิ่มแทงเหงือก ส่งผลให้มีเลือดออกได้ และเรียนรู้วิธีการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ควรแปรงฟันสม่ำเสมอหลังทุกมื้ออาหารและก่อนนอน รวมถึงใช้ไหมขัดฟัน เพื่อลดการเกิดคราบหินปูน จะเป็นวิธีการป้องกันฟันผุได้  หากพบว่ามีฟันน้ำนมขยับไปมาจนใกล้จะหลุด ควรพาไปพบทันตแพทย์ ในกรณีที่มีการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าก๊อซกัดแล้ว แต่เลือดไม่หยุดไหล และก่อนการทำหัตถการเกี่ยวกับฟันและเหงือก เช่น ฉีดยาชาที่เหงือกหรือถอนฟัน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลรักษาก่อนเพื่อเตรียมการก่อนการทำหัตถการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงเลือดไหลไม่หยุด
  5. ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ เน้นการตรวจบริเวณข้อและกล้ามเนื้อรอบข้อที่เกิดภาวะเลือดออกบ่อย แนะนำวิธีที่ช่วยป้องกันมิให้เกิดข้อพิการตามมาได้ และที่สำคัญผู้ป่วยโรคนี้ไม่ควรมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เนื่องจากน้ำหนักมากจะทำให้ข้อต่าง ๆ แบกรับน้ำหนัก ทำให้มีโอกาสเลือดออกในข้อได้
  6. ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียหรือโรคเลือดออกง่ายอื่น ๆ สามารถรับวัคซีนได้เหมือนเด็กปกติ แต่จำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยาเบอร์เล็ก (26-gauge needle) และฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังเท่านั้น โดยกดนานอย่างน้อย 5-10นาทีหลังฉีดยา นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีทุกคน เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อได้จากการรับส่วนประกอบของเลือด รวมทั้งควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอเพื่อป้องกันโรคด้วย
  7. ส่งเสริมให้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะที่มีเส้นใย (fiber) เช่น ผักและผลไม้ จะมีส่วนช่วยในการขัดฟันและทำความสะอาดฟันไปพร้อมกัน  นอกจากนี้สามารถควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนจนเกินไป ทำให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักตัวมาก ช่วยป้องกันเลือดออกในข้อต่างๆได้ด้วย

ข้อควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันมิให้มีภาวะเลือดออกง่ายได้อย่างไร

  1. หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมและอาหารหวาน ช็อกโกแลต แป้งและน้ำตาล นอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังส่งผลให้เกิดโรคฟันผุได้มากยิ่งขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาในกลุ่มแอสไพริน หรือยากลุ่ม NSAIDsได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน ซึ่งยานี้มีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดได้ไม่ดีทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง หากมีอาการปวดกล้ามเนื้อหรือข้อ ควรแนะนำให้รับประทานยา acetaminophen ขนาด 10-15มก./กก. ทุก 4-6 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาอาการปวด
  3. หลีกเลี่ยงและระมัดระวังการใช้ของเล่น และของมีคมต่างๆ เช่น มีด กรรไกร รวมทั้งเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่บ้านที่ไม่มีมุมแหล เพื่อป้องกันการชนหรือกระทบกระแทก เก็บอุปกรณ์ที่มีคมให้พ้นมือเด็ก ควรเลือกให้เด็กขี่จักรยานที่มีสามล้อแทนจักรยานที่มีสองล้อ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและไม่หกล้มเพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
  4. หลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดจากการเชื้อไวรัส และควรได้รับวัคซีนเสริม เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะกระตุ้นให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้        
  5. หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อการกระทบกระแทกรุนแรง เช่น มวย บาสเกตบอล ฟุตบอล เทควันโด

อาการแสดงอย่างไรบ้างที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล

เมื่อมีอาการเลือดออกในอวัยวะสำคัญต่างๆ  ได้แก่

  • ซึม ชัก อาเจียนมาก
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ชา หรืออ่อนแรง
  • ตามัว
  • ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด
  • ขาชา หรือปวดสะโพกมาก เหยียดขาไม่ได้
  • เกิดอุบัติเหตุ มีบาดแผลเลือดออก