การบริจาคโลหิตในยุค COVID-19
รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
สภากาชาดไทยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นแกนกลางในการจัดหาโลหิตของประเทศตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2508 มีวัตถุประสงค์ให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพความปลอดภัยสูงสุดทั้งผู้ให้และผู้รับ การจัดหาโลหิตได้ดำเนินการในรูปแบบการบูรณาการร่วมกันระหว่างศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และสาขาบริการโลหิตแห่งชาติซึ่งได้แก่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศจำนวน 160 แห่ง มีเหล่ากาชาดจังหวัดทำหน้าที่ประสานงานการจัดหาโลหิตให้เพียงพอในแต่ละภูมิภาค โลหิตที่จัดหาเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลในประเทศไทยไม่มีการซื้อขาย และได้รับการบริจาคจากประชาชนทั่วไปแบบสมัครใจไม่หวังสิ่งตอบแทน (Voluntary Non-Remunerated Blood Donors: VNRD) ปัจจุบันโลหิตที่จัดหามาประมาณร้อยละ 90-95 ได้จากการบริจาค ส่วนในช่วงที่โลหิตในคลังขาดแคลน โรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องขอรับโลหิตจากญาติ (Family replacement donors) อีกประมาณร้อยละ 5-10 ทั้งนี้สภากาชาดไทยสามารถจัดหาโลหิตได้ในสัดส่วนร้อยละ 43 ของจำนวนโลหิตทั้งหมดที่จัดหาได้ทั้งประเทศ
เนื่องจากความต้องการใช้โลหิตเพื่อรักษาผู้ป่วยของประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และสาขาบริการโลหิตแห่งชาติต้องจัดหาโลหิตเพิ่มขึ้นโดยมีอัตราการจัดหาโลหิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละร้อยละ 3.8 โดยในปีพุทธศักราช 2562 มีการจัดหาโลหิตทั้งประเทศสูงถึง 2.7 ล้านยูนิต ส่งผลให้ปัจจุบันในปีพุทธศักราช 2563 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจำเป็นต้องรับบริจาคโลหิตเพื่อให้มีโลหิตสำรองอย่างน้อย 3,400 ยูนิตต่อวันจึงจะเพียงพอ อีกทั้งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อการจัดหาโลหิตของประเทศไทย ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 พบจำนวนผู้มาบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติลดลงร้อยละ 23 ภาคบริการโลหิตแห่งชาติลดลงร้อยละ 27 และสาขาบริการโลหิตแห่งชาติลดลงร้อยละ 57 ซึ่งส่งผลให้จำนวนโลหิตสำรองคงคลังลดลงและขาดแคลนในบางสัปดาห์
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้ปรับกลยุทธ์การรณรงค์จัดหาผู้บริจาคโลหิต เพื่อให้มีโลหิตสำรองเพียงพอต่อการรักษาพยาบาล โดยจัดทำการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักให้ประชาชนทั่วไปเยาวชน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ครู วิทยากร อาสาสมัคร เป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โดยการบริจาคโลหิต และประเมินตนเองให้มีความพร้อมในการบริจาคโลหิตเพื่อลดจำนวนผู้บริจาคโลหิตที่ถูกปฏิเสธไม่ให้บริจาคโลหิตทั้งชั่วคราวและถาวร เพิ่มการบูรณาการความร่วมมือขยายการจัดรับบริจาคโลหิตกับหน่วยงานในพื้นที่ เขต วัด สถานที่ราชการ ชุมชน หมู่บ้าน คอนโด บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ และขยายสถานที่รับบริจาคโลหิตเป็นห้องรับบริจาคโลหิตประจำที่ (Fixed Station) ตามหัวเมือง เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดการเดินทาง ช่วยให้ผู้บริจาคโลหิตเข้าถึงการบริจาคโลหิตได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เรื่องการบริจาคโลหิต ความพร้อมในการบริจาคโลหิต คุณสมบัติการบริจาคโลหิต การเตรียมตัวก่อนและหลังการบริจาคโลหิต ด้วยช่องทางสื่อที่ทันสมัย เช่น เว็บไซต์ และสื่อโซเชียลมีเดีย
นอกจากนั้นการเพิ่มศักยภาพด้านการจัดหาผู้บริจาคโลหิตในส่วนภูมิภาคเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จำเป็น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ เหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตแห่งชาติทั่วประเทศ ในการสร้างผู้ประสานงานในหน่วยงานที่จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต สร้างแกนนำจิตอาสาส่งเสริมช่วยเหลือด้านการจัดหาผู้บริจาคโลหิต และช่วยรณรงค์จัดหาโลหิตได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งจัดอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับโลหิตและการบริจาคโลหิต การคัดกรองผู้บริจาคโลหิต และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นได้
โครงการ Plus 1 เพิ่มจำนวนครั้ง เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต เป็นกิจกรรมหนึ่งในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นของโลหิตด้วยการเพิ่มจำนวนครั้งการบริจาคโลหิต เนื่องจากยังไม่มีผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งใดมาใช้ทดแทนโลหิตได้อย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องมีการบริจาคโลหิต เพื่อนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยปกติเม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วัน หากไม่ได้บริจาคโลหิตเมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุจะถูกกำจัดออกไปโดยกลไกของร่างกาย การบริจาคโลหิตจึงไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อสุขภาพของผู้บริจาค เมื่อบริจาคโลหิตแล้วไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน การบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน หรือบริจาคโลหิต 2-4 ครั้งต่อปี จะช่วยให้เม็ดเลือดแดงมีการผลัดเปลี่ยนและสร้างใหม่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่จำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาลด้วยการรับโลหิตเป็นประจำ เช่นผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นต้น ในปีพุทธศักราช 2563 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ พบผู้บริจาคโลหิตมาบริจาคโลหิตเพียง 1 ครั้งต่อปีสูงถึงร้อยละ 62 หากผู้บริจาคโลหิตกลุ่มนี้บริจาคเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งในแต่ละปี จะทำให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติมีจำนวนโลหิตสำรองเพิ่มขึ้น 400,000 ยูนิตต่อปี หรือทำให้ทั้งประเทศจัดหาโลหิตให้ผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านยูนิต ซึ่งจะทำให้มีโลหิตเพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย
การวางแผนให้มีผู้สนใจมาบริจาคโลหิตตลอดปีเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากโลหิตหรือเม็ดเลือดแดงสามารถเก็บรักษาให้มีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้เพียง 35-42 วัน จึงจำเป็นที่ต้องมีผู้มาบริจาคโลหิตกระจายสม่ำเสมอทุกเดือน เหตุการณ์ที่มีผู้มาบริจาคโลหิตจำนวนมากในเดือนที่มีวันสำคัญและจำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลงในเดือนอื่น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนโลหิตในบางเดือนสาเหตุจากผู้ป่วยต้องการใช้โลหิตตลอดเวลาและไม่สามารถรอคอยได้ เช่น เดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม มิถุนายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ของทุกปี ดังนั้นการสร้างความตระหนักว่าการบริจาคโลหิตมีความจำเป็นปลูกฝังและปรับเปลี่ยนค่านิยมให้นิยมบริจาคโลหิตเป็นประจำ จะช่วยให้มีโลหิตสำรองและไม่ขาดแคลนโลหิตอีกต่อไป
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาและจิตกุศลทุกท่าน บริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อมนุษย์ ได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ หรือหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิต ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และสาขาบริการโลหิตแห่งชาติทุกแห่ง โดยสามารถติดตามหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิตประจำวันได้ที่ https://blooddonationthai.com/และเฟสบุ๊ค ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 0 2256 4300