โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง
รศ.นพ.เอกรัฐ รัฐฤทธิ์ธำรง
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังคืออะไร
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังเกิดจากการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการผิดปกติ หรือมีอาการจากตับ ม้ามหรือต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการซีด ไข้ หรือเลือดออกง่ายผิดปกติอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการลดลงของการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในไขกระดูก
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ตามชนิดของเม็ดเลือดขาวซึ่งเพิ่มขึ้นได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังพบได้บ่อยเพียงใด
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์มีอุบัติการณ์ประมาณ 1-2 รายต่อประชากร 100,000 คน โดยอายุเฉลี่ยที่พบบ่อยอยู่ในช่วง 50-60 ปี ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์มีอุบัติการณ์ประมาณ 2-6 รายต่อประชากร 100,000 คนในประเทศฝั่งตะวันตก แต่พบได้น้อยมากในประเทศแถบเอเชีย โดยอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ อายุเฉลี่ยประมาณ 65 ปี
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังมีอาการอย่างไร
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติแต่ตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด บางรายมีอาการจากตับ ม้ามโตเช่น อืดแน่นท้อง อิ่มเร็ว คลำก้อนได้ที่ท้อง บางรายคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตที่คอ รักแร้ ขาหนีบ (พบต่อมน้ำเหลืองโตในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์ได้บ่อยกว่าชนิดมัยอีลอยด์) บางรายมีอาการตามระบบซึ่งพบในโรงมะเร็งเช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ในขณะที่อาการซึ่งพบในมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันเช่น ซีด ไข้ หรือเลือดออกง่ายผิดปกตินั้น อาจพบได้ในระยะท้ายของโรค
แพทย์มีแนวทางในการหาสาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังได้อย่างไร
การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังทำได้โดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจนับเม็ดเลือด โดยการตรวจนับเม็ดเลือดนั้น ถือเป็นการตรวจพื้นฐานสำหรับการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง โดยจะพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ (มากกว่า 10,000 ตัวต่อไมโครลิตร ผู้ป่วยบางรายอาจระดับเม็ดเลือดมากกว่า 100,000 ตัวต่อไมโครลิตร) โดยเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดมักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมีภาวะโลหิตจาง(เม็ดเลือดแดงต่ำ) เล็กน้อย
การตรวจสเมียร์เลือดจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพิ่มขึ้นจากการตรวจนับเม็ดเลือดและนำไปสู่การวินิจฉัยเบื้องต้น โดยในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ก็จะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์ตั้งแต่ตัวอ่อนถึงตัวแก่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก (รูปที่ 1 และ 2) ส่วนในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์ก็จะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซท์เพิ่มขึ้น (รูปที่ 3 และ 4)
การตรวจยืนยืนการวินิจฉัยสำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ ทำได้โดยการตรวจหาหน่วยพันธุกรรมซึ่งจำเพาะต่อโรคจากเลือดหรือไขกระดูก โดยจะพบการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนของโครโมโซม 9 และ 22 เรียกว่าฟิลาเดลเฟีย โครโมโซม ส่วนการตรวจยืนยืนการวินิจฉัยสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์ทำโดยการตรวจพิเศษจากเลือดหรือไขกระดูกเพื่อย้อมโปรตีนบนผิวเซลล์
การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังทำได้อย่างไร
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ในปัจจุบัน มีการให้ยาใหม่ซึ่งออกฤทธิ์จำเพาะสำหรับฟิลาเดลเฟีย โครโมโซมเช่น ยาอิมาทินิบ ซึ่งเป็นยารับประทานซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษามาก สามารถทำให้เม็ดเลือดขาวลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตับม้ามยุบลงเป็นปกติ รวมทั้งตรวจไม่พบสำหรับฟิลาเดลเฟีย โครโมโซมได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติ แต่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และมีการติดตามการรักษากับแพทย์ตามที่กำหนด กรณีที่การตอบสนองไม่ได้ตามเกณฑ์ แพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนยา กรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาทุกตัวหรือเป็นผู้ป่วยระยะท้ายซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังเป็นเฉียบพลันจะพิจารณาให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์นั้น กรณีที่ไม่มีอาการ ไม่มีความจำเป็นต้องให้การรักษา แต่ต้องมีการติดตามอาการของผู้ป่วยเป็นระยะ กรณีที่มีอาการจากโรคเช่น เข้าสู่ระยะท้ายซึ่งมีภาวะโลหิตจางหรือเกล็ดเลือดต่ำ มีอาการจากตับม้ามหรือต่อมน้ำเหลืองโต จะถือเป็นข้อบ่งชี้ในการรักษา ซึ่งการรักษาอาจมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและลักษณะของโรค ได้แก่ ยาเคมีบำบัดแบบรับประทานหรือแบบฉีด ยาใหม่เช่น แอนติบอดี้และยาซึ่งออกฤทธิ์จำเพาะกับเซลล์มะเร็ง รวมทั้งการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เป็นต้น
โดยสรุป โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์และชนิดลิมฟอยด์สามารถรักษาได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจไม่มีอาการปกติ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีรวมถึงการการตรวจนับเม็ดเลือด จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหรือคลำได้ก้อนในท้อง (ตับ ม้าม) หรือคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต (โดยเฉพาะไม่ยุบลงภายใน 2 สัปดาห์) ควรไปรับการตรวจกับแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และรักษาอย่างถูกต้อง
เอกสารอ้างอิง
รูปที่ 1 ภาพสเมียร์เลือดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอิลอยด์
รูปที่ 2 ภาพสเมียร์เลือดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอิลอยด์
รูปที่ 3 ภาพสเมียร์เลือดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์
รูปที่ 4 ภาพสเมียร์เลือดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์