โรคเลือดจางจากการขาดวิตามินโฟเลต
พญ. ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา
หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วิตามินโฟเลตหรือวิตามินบี 9 พบได้ในอาหารหลายหลายชนิด ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ยอดผัก ผลไม้ ถั่วและธัญพืช โฟเลตมีหน้าที่สำคัญในการสร้างเซลล์ เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการช่วยสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ปกติร่างกายมีความต้องการโฟเลตวันละ 200-400 ไมโครกรัม ส่วนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะมีความต้องการโฟเลตเพิ่มขึ้นสองเท่า ในหญิงตั้งครรภ์จึงมีความจำเป็นต้องรับประทานโฟเลตเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตป้องกันภาวะการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของทารกในครรภ์
การขาดโฟเลตในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเจริญเติบโตผิดปกติโดยเฉพาะของระบบประสาทของทารก ในคนทั่วไปหากขาดโฟเลต จะทำให้มีภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ อ่อนเพลียและเจ็บลิ้นได้
ความชุกของการขาดวิตามินโฟเลตลดลงมาก ในประเทศที่เสริมวิตามินโฟเลตในอาหารจำพวกธัญพืช ข้าวและขนมปัง ปัจจุบัน 83 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกา ออสเตรเลียและแอฟริกาได้ออกกฏหมายให้เสริมวิตามินโฟเลตในอาหารกลุ่มธัญพืช แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้
สาเหตุของการขาดวิตามินโฟเลต
สาเหตุที่สำคัญที่สุดของการขาดวิตามินโฟเลต คือ การได้รับวิตามินโฟเลตไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เนื่องจากวิตามินโฟเลตถูกทำลายได้ง่ายเมื่ออาหารผ่านความร้อน และในร่างกายสะสมวิตามินโฟเลตเพียง 5-10 มิลลิกรัม หากไม่ได้รับอาหารที่มีวิตามินโฟเลตเพียงพอ จะเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินโฟเลตในระยะเวลา 4-5 เดือน
อาการของการขาดวิตามินบี 12
การวินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินโฟเลต
เมื่อมีภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจพบเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำลงได้เล็กน้อย ลักษณะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลด์มีขนาดใหญ่ที่มีจำนวนหยักของนิวเคลียสมากขึ้นผิดปกติ โดยมักจะสงสัยในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นต่อการขาดวิตามินโฟเลต แพทย์จะสืบค้นเพิ่มเติมโดยตรวจระดับวิตามินโฟเลตร่วมกับวิตามินบี 12 ในเลือดว่ามีระดับต่ำผิดปกติหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจระดับวิตามินบี 12 ด้วยเสมอ เนื่องจากอาการและอาการแสดงทางคลินิก ไม่สามารถแยกภาวะขาดวิตามินทั้งสองชนิดนี้จากกันได้ และผู้ป่วยอาจมีการขาดวิตามินทั้งสองชนิดนี้ร่วมกันก็ได้ อย่างไรก็ดีการตรวจระดับวิตามินโฟเลตจะมีประโยชน์น้อยในผู้ที่ทานอาหารได้และมีการดูดซึมอาหารที่ปกติ หากตรวจไขกระดูกซึ่งเป็นที่ผลิตเม็ดเลือดแดง จะพบเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนที่มีขนาดใหญ่และนิวเคลียสอ่อนผิดปกติได้
การรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินโฟเลต
ให้วิตามินโฟเลตทดแทนในขนาด 5-10 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ควรเสริมวิตามินโฟเลตอย่างเดียวในผู้ที่ขาดหรือสงสัยว่าขาดวิตามินบี 12 ร่วมด้วย เนื่องจากการให้วิตามินโฟเลตอย่างเดียวในผู้ที่ขาดวิตามินบี 12 จะทำให้อาการทางระบบประสาทแย่ลงในผู้ที่ขาดวิตามินบี 12ได้ ส่วนในผู้ที่ได้รับยาต้านการออกฤทธิ์ของวิตามินโฟเลต โดยเฉพาะยาเคมีบำบัดกลุ่ม methotrexateสามารถให้กรดโฟลินิค ซึ่งเป็นวิตามินโฟเลตที่สามารถนำไปช่วยในการสังเคราะห์ DNA ได้เลย