ความรู้สู่ประชาชน

การรักษาโรคที่ต้องพึ่งพาการให้พลาสมา

พญ.ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา

หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          เลือดและส่วนประกอบของเลือดมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในเลือดที่เราบริจาค จะถูกแยกส่วนประกอบของเลือดออกเป็น เลือดแดงอัดแน่น (packed red cells) น้ำเหลืองหรือพลาสมา (plasma) และเกล็ดเลือด (platelet) และจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสมที่ธนาคารเลือดเพื่อนำไปให้ในผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยเลือดและส่วนประกอบของเลือดต่อไป

การรักษาด้วยพลาสมา

          พลาสมาหรือน้ำเหลืองนั้นเป็นส่วนของประกอบของเลือดที่ได้หลังจากแยกส่วนของเม็ดเลือดแดงออกไปแล้ว ในพลาสมาจะมีโปรตีนทุกชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนที่เป็นปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (coagulation factors) พลาสมาจึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มปัจจัยการแข็งตัวของเลือด และช่วยให้เลือดหยุดได้ โดยพลาสมาที่ถูกแช่แข็ง (fresh frozen plasma, FFP) จะถูกเก็บรักษาไว้ในธนาคารเลือด หากมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ พลาสมาจะถูกนำมาละลายเพื่อให้แก่ผู้ป่วยต่อไป จะขอยกตัวอย่างการรักษาโรคด้วยการให้พลาสมาพอเป็นสังเขปดังนี้

  • ภาวะเลือดออกจากการขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือดหลายตัว เช่น ในผู้ป่วยตับแข็ง ทำให้ตับไม่สามารถผลิตปัจจัยการแข็งตัวของเลือดได้ ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกง่าย หากมีบาดแผลหรือเลือดออก เลือดจะหยุดยาก จึงจำเป็นต้องให้พลาสมาเพื่อเพิ่มปริมาณปัจจัยการแข็งตัวของเลือด เพื่อช่วยในการหยุดของเลือด
  • ภาวะเลือดออกจากยาวาร์ฟาริน (warfarin) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ใช้ในการรักษาโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดและมักให้ในผู้ที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะเพื่อป้องกันไม่ให้มีลิ่มเลือดในช่องหัวใจที่อาจหลุดไปอุดตันหลอดเลือดอื่น โดยเฉพาะหลอดเลือดของสมอง ฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินจะทำให้ปัจจัยการแข็งตัวของเลือดบางชนิดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หากผู้ป่วยได้ยาวาร์ฟารินในปริมาณที่สูงเกินไป จะทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้ การรักษาภาวะเลือดออกจากยาวาร์ฟาริน นอกจากจะให้วิตามินเคซึ่งเป็นยาต้านฤทธิ์วาร์ฟารินแล้ว ควรพิจารณาให้พลาสมาเพื่อเพิ่มปัจจัยการแข็งตัวของเลือดเพื่อสามารถหยุดเลือดได้ในเวลาอันรวดเร็ว
  • โรคทีทีพี (thrombotic thromcocytopenic purpura, TTP)  เป็นโรคที่ผู้ป่วยขาดเอนไซม์บางชนิดในพลาสมา ทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันในหลอดเลือด และอาจทำให้หลอดเลือดเส้นเล็ก ๆ อุดตัน เช่น หลอดเลือดในสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมึนหรือปวดศีรษะ ตอบสนองช้า ซึมและชักได้ จัดเป็นภาวะที่ต้องรีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วนโดยการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (plasma exchange) เพื่อเติมเอนไซม์ที่ผู้ป่วยขาดทดแทนให้แก่ผู้ป่วย หากมีปริมาณพลาสมาเพื่อเปลี่ยนถ่ายอย่างพอเพียงและสามารถเริ่มทำได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตในผู้ป่วยได้

โดยสรุป   การให้พลาสมามีประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยดังที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น ยังมีโรคหรือภาวะอื่น ๆ อีกมากที่จำเป็นต้องให้พลาสมาในการรักษา ดังนั้นการบริจาคเลือดเพื่อให้มีปริมาณเลือดและพลาสมาเพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการรักษาและต่อชีวิตของผู้ป่วยให้ยืนยาวต่อไป