งูมีพิษกัด
ศ. นพ. พลภัทร โรจน์นครินทร์
สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งูพิษรุนแรงในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. งูที่มีพิษต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยมและ งูทับสมิงคลา งูเห่าและงูจงอางเป็นงูที่แผ่แม่เบี้ยได้ ดังรูปที่ 1 งูเห่าบางชนิดสามารถพ่นพิษได้ ถ้าพิษเข้าใส่ตา อาจทำให้ระคายเคืองจนตาบอดได้ นอกจากนี้มี งูสามเหลี่ยม ซึ่งมีลายดำสลับเหลือง และ งูทับสมิงคลามีลายดำสลับขาวเป็นปล้อง ดังรูปที่ 2 ส่วนงูทะเลเป็นงูที่มีพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อ และ ไตวายได้
รูปที่ 1 งูเห่า เป็นงูพิษต่อระบบประสาทที่สามารถแผ่แม่เบี้ยได้ งูเห่าไทยในภาพ มีลายดอกจันบนแม่เบี้ยเป็นรูปกลม
รูปที่ 2 งูทับสมิงคลา เป็นงูพิษต่อระบบประสาท ที่มีลายดำสลับขาวเป็นปล้อง โดยปล้องขาวจะไม่ขาวสนิทแต่มีสีดำเจือปนอยู่
2. งูที่มีพิษผลต่อระบบโลหิต ทำให้เลือดไม่แข็งตัวและมีเลือดออกง่าย ได้แก่ งูแมวเซา ซึ่งพบมากทางภาคกลางและภาคตะวันออก งูกะปะ ซึ่งพบมากภาคใต้ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ทั้ง 2 ชนิดเป็นงูสีน้ำตาล งูแมวเซามีลายรูปวงรี ดังรูปที่ 3 และงูกะปะมีลายรูปสามเหลี่ยม ดังรูปที่ 4 ส่วน งูเขียวหางไหม้ พบมากในเขตกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีตัวสีเขียวและหางสีแดง มักอาศัยบนต้นไม้ ดังรูปที่ 5 นอกจากนี้มีงูลายสาบคอแดงซึ่งมีรายงานว่าทำให้เลือดออกไม่หยุดถึงตายได้
รูปที่ 3 งูแมวเซา เป็นงูพิษต่อระบบเลือดและ ยังมีพิษต่อไต มีสีน้ำตาลและมีลายเป็นรูปวงรี โปรดสังเกตว่างูพิษระบบเลือดจะมีส่วนแก้มที่ป่องออกเนื่องจากมีต่อมพิษอยู่ ทำให้ส่วนหัวดูใหญ่เมื่อเทียบกับลำคอ มีลักษณะคล้ายหัวลูกศร
รูปที่ 4 งูกะปะ เป็นงูพิษต่อระบบเลือด มีสีน้ำตาลและมีลายเป็นสามเหลี่ยมที่มียอดอยู่กลางหลัง
รูปที่ 5 งูเขียวหางไหม้ เป็นงูพิษต่อระบบเลือดที่พบบ่อยที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีลำตัวสีเขียว และ ปลายหางสีแดง
อาการ
1. อาการเฉพาะที่ ได้อาการปวด บวม อาจเห็นรอยเขี้ยวพิษของงู เป็นจุด 2 จุด ในบริเวณที่ถูกกัด นอกจากนี้ อาจมีรอยช้ำ มีถุงน้ำพอง ดังรูปที่ 6 และ ในบางรายอาจมีเนื้อเน่าตายได้ ดังรูปที่ 7
รูปที่ 6 แผลถูกงูเขียวหางไหม้กัด พบรอยเขี้ยวงู 2 รอย ที่ข้อเท้า และ ตุ่มน้ำพองที่หลังเท้า
รูปที่ 7 แผลถูกงูเห่ากัด ที่นิ้วก้อย พบว่าเริ่มมีบริเวณเนื้อเน่าตายเป็นสีคล้ำ
2. อาการตามระบบ
2.1 งูที่มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการเริ่มต้นคือ หนังตาตก ทำให้มักเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยง่วงนอน ความจริงแล้วหนังตาตกเกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนยกเปลือกตาไม่ขึ้น ต่อมาอาจมีกลืนลำบาก และเกิดอัมพาต ถ้ากล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตทำให้หายใจไม่ได้ อาจเสียชีวิตได้ ต้องรีบทำการช่วยหายใจโดยด่วน
2.2 งูที่มีพิษผลต่อระบบโลหิต ทำให้เกิดเลือดไหลไม่หยุด เช่น มีเลือดออกไรฟัน ออกจากทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ถ้าเลือดออกรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ พิษงูแมวเซา อาจทำให้เกิดไตวายร่วมด้วย
การปฐมพยาบาล
ถ้าถูกงูกัดอย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติให้มั่น ดูลักษณะของงูหรือถ่ายรูปงูถ้าทำได้ และร้องขอความช่วยเหลือ ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ (Tourniquet) เพราะ ไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และ ถ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้ แต่ควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และขยับส่วนที่ถูกกัดให้น้อยเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการดูดซึมพิษงู
ถ้าถูกงูเห่าพ่นพิษเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
ผู้ป่วยที่ถูกงูระบบประสาทกัด อาจเป็นอัมพาตทั่วตัวคล้ายกับเสียชีวิตแล้ว ไม่ควรหยุดการช่วยเหลือ ให้รีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อช่วยการหายใจโดยเร็วที่สุด
การรักษา
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และตรวจเลือด บางรายยังไม่มีอาการของพิษเมื่อมาถึงโรงพยาบาลจึงต้องสังเกตอาการต่อจนกว่าจะพ้นระยะอันตราย การให้เซรุ่มต้านพิษงูมีประโยชน์แต่ก็ความเสี่ยงต่อการแพ้ และบางครั้งงูพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษทำให้ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แม้จะถูกงูพิษกัด แพทย์จึงเลือกให้เซรุ่มเฉพาะรายตามความเหมาะสมโดยไม่จำเป็นต้องให้เซรุ่มทุกราย เซรุ่มต้านพิษงูจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ เลือดออก ให้ดีขึ้นได้ แม้ผู้ป่วยจะได้เซรุ่มแล้วบางรายยังอาจเกิดเนื้อเน่าตาย หรือ ไตวาย ต่อมาภายหลังได้ จึงอาจต้องอาศัยการรักษาอื่นๆร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดตัดเนื้อตายออก การให้สารน้ำหรือการล้างไต เพื่อป้องกันและรักษาภาวะไตวาย เป็นต้น