โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
พญ.พรรณี ประดิษฐ์สุขถาวร
หัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ เนื้องอกของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย
ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system) เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่ต่อสู้ และปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ประกอบด้วย
1. ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) มีลักษณะคล้ายเม็ดถั่ว พบได้ทั่วร่างกาย มีจำนวนหลายร้อยต่อม แต่จะไม่สามารถคลำไม่พบได้ในภาวะปกติ เนื่องจากมีขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
2. ภายในต่อมน้ำเหลืองประกอบด้วยเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) จำนวนมาก
3. หลอดน้ำเหลือง (Lymphatic vessels) เชื่อมต่อระหว่างต่อมน้ำเหลืองแต่ละต่อม
4. อวัยวะอื่นๆ ที่จัดอยู่ในระบบน้ำเหลือง ได้แก่ ต่อมทอลซิล ต่อมไทมัส และม้าม
อาการ
อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น ซึ่งจะคลำพบได้ง่ายในบริเวณที่อยู่ตื้น เช่นบริเวณข้างลำคอ รักแร้ เต้านม หรือขาหนีบ(ต่อมน้ำเหลืองโต ไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเสมอไป ทั้งนี้อาจเกิดจาก การติดเชื้อธรรมดาในอวัยวะใกล้เคียง หรือการกระจายมาของมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน)
อาการอื่นๆ ที่อาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ได้แก่ ไข้ น้ำหนักลด เหงื่อออกกลางคืน ท้องอืดแน่นหรือโตขึ้น ตับม้ามโต รวมถึงมีผื่นหรือแผลเรื้อรัง
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จำเป็นจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูการเรียงตัวของเซลล์ผิดปกติภายใต้กล้องจุลทรรศน์ รวมถึงอาจจะต้องมีการย้อมชิ้นเนื้อเพิ่มเติม เพื่อบอกรายละเอียดและชนิดของโรค ที่แน่นอนต่อไป
การตรวจเพิ่มเติม
เมื่อทราบการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแล้ว จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม โดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งช่องอกและช่องท้อง (CT scan) รวมถึงการเจาะไขกระดูก เพื่อบอกว่าโรคอยู่ในระยะใด (stage 1-4)
การรักษาการรักษามีหลายวิธี ขึ้นกับชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เป็น และระยะของโรค
1. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ทางสายน้ำเกลือ หรือรับประทาน โดยยาจะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วทั่วร่างกาย รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดปกติ มีผลให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำลงและติดเชื้อง่ายตามมา
2. การรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง (Monoclonal antibodies) ยาเหล่านี้เป็นสารที่สร้างขึ้นให้จับกับโปรตีนที่จำเพาะบนผิวเซลล์มะเร็ง มีผลข้างเคียง รวมถึงการทำลายเซลล์เม็ดเลือดปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัดทั่วไป แต่มักจะมีราคาสูง อาจให้เดี่ยวๆ หรือให้ร่วมกับยาเคมีบำบัดได้
3. การฉายรังสีรักษา (Radiation therapy) คือการฉายรังสีปริมาณสูง ไปทำลายเซลล์ผิดปกติ ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง อาจใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนยาเคมีบำบัดได้ หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ในรายที่มีก้อนขนาดใหญ่ และโรคมีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง
4. การเฝ้าติดตามโรค อาจใช้สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป ที่โตช้า และไม่ก่ออาการ ซึ่งการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง อาจไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ แต่กลับเพิ่มผลข้างเคียงจากการรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ต่อไป
พยากรณ์โรค
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคมะเร็งที่มีพยากรณ์โรคดีที่สุดชนิดหนึ่ง พบว่า หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีแล้ว ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่ง สามารถหายขาดจากโรค และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติดังเดิม ทั้งนี้ ขึ้นกับชนิดของโรค และความแข็งแรงของผู้ป่วย ว่าสามารถรับการรักษาได้อย่างเต็มที่หรือไม่ด้วย
การดูแลตนเอง
สิ่งสำคัญ คือการป้องกันการติดเชื้อระหว่างการรักษา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่าย และรุนแรงกว่าปกติ เนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ดังนั้น
1. ควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาด ปราศจากเชื้อที่อาจก่อโรค รวมถึงเลือกทานผลไม้เปลือกหนา และอาหารที่ไม่มีเชื้อราปนเปื้อน
2. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความสะอาดของร่างกาย บ้วนปากหลังอาหาร ดื่มน้ำอย่างพอเพียง ขับถ่ายสม่ำเสมอ และไม่อยู่ในสถานที่แออัดซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงออกกำลังกายตามสมควร แต่ต้องไม่เสี่ยงต่อการล้มกระแทก หากมีอาการเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
3. หากมีไข้ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อแพทย์สามารถพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที