ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
นายแพทย์ชินดล วานิชพงษ์พันธุ์
ปกติร่างกายคนเราใช้ ธาตุเหล็กในการสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างในร่างกาย ธาตุเหล็กจึงบรรจุอยู่ในเม็ดเลือดแดง เมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุ จะมีการปล่อยธาตุเหล็กคืนสู่ร่างกาย เพื่อนำมาใช้ใหม่ อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก ทำให้ร่างกายเกิดสมดุลและไม่ขาดธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็ก มีอยู่ในอาหารทั่วไป โดยอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ (ตับและม้าม) เนื้อสัตว์ ไข่แดง หอย (หอยกาบ หอยนางรม หอยแมลงภู่) ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ อาจกินถั่ว ผักใบเขียว ผลไม้แห้ง เช่นแอปริคอต และลูกเกด ยีสต์หมักเบียร์ สาหร่าย กากน้ำตาล และรำข้าวสาลี
เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง เมื่อขาดธาตุเหล็ก จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (หรือเลือดจาง หรือซีด) ร่วมกับมีอาการ เหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น วิงเวียน หนาวง่าย สมาธิสั้น การเฉียบคมฉับไวในการตอบสนองหรือคิดวิเคราะห์ช้าลง อาจพบลิ้นเลี่ยนและเล็บแบนเป็นรูปช้อนซึ่งเมื่อตรวจวัดระดับความเข้มข้นของเลือด หรือฮีโมโกลบิน จะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ อีกทั้งพบเม็ดเลือดแดงขนาดเล็ก และระดับเหล็กสะสมต่ำ
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก มีสาเหตุสำคัญ 4 กลุ่มสาเหตุ ได้แก่ การเสียเลือดเรื้อรังเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เช่นประจำเดือนออกมากในหญิงวัยเจริญพันธุหรือมีแผลหรือเนื้องอกในทางเดินอาหาร ทำให้เสียเลือด ร่างกายไม่สามารถนำธาตุเหล็กกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กร่างกายต้องการเหล็กมากขึ้นพบในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร, ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กลดลงพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่กินยาซึ่งรบกวนการดูดซึมของธาตุเหล็กและได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ พบในเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมมารดา หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารเองไม่ได้
การรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก มีหลักสำคัญ 2 อย่างคือ ให้ ธาตุเหล็กทดแทน ร่วมกับตรวจหาและแก้ไขสาเหตุ หากไม่มีปัญหาการดูดซึมธาตุเหล็ก นิยมให้ธาตุเหล็กทดแทนโดยการรับประทาน ธาตุเหล็ก เม็ด เริ่มรับประทาน 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหารจนความเข้มข้นเลือดหรือระดับฮีโมโกลบินกลับมาเป็นปกติ จึงลดปริมาณลงเป็น 1 เม็ดหลังอาหารเช้า เย็น และ 1 เม็ด วันละครั้งตามลำดับ ควรรับประทานอย่างน้อย 3-6 เดือน หรือจนแก้ไขสาเหตุได้ เพื่อให้ร่างกายมีปริมาณเหล็กสะสมเพียงพอ
ระหว่างรับประทานธาตุเหล็กเม็ด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนม น้ำเต้าหู้ หรือยาลดกรดร่วมด้วย เนื่องจากจะลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และหากรับประทานร่วมกับน้ำส้ม จะทำให้การดูดซึมธาตเหล็กดีขึ้น หลังรับประทานธาตุเหล็กเม็ด อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ โดยมักเป็นเฉพาะ 2-3 วันแรก แล้วดีขึ้นเอง หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนชนิดของธาตุเหล็กเม็ด ตลอดระยะเวลาที่รับประทานธาตุเหล็กเม็ด อุจจาระจะมีสีดำเนื่องจากร่างกายขับเหล็กส่วนที่เหลือจากการดูดซึมออกทางอุจจาระ ไม่เป็นอันตรายใดๆ
หลังจากให้ธาตุเหล็กทดแทน อาการและ ความเข้มข้นเลือดจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลับมาเป็นปกติภายในเวลา 4-8 สัปดาห์ หากความเข้มข้นเลือด หรือระดับฮีโมโกลบิน ไม่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ร่างกายอาจมีการเสียเลือดอย่างต่อเนื่อง ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไม่ได้ หรือโลหิตจางจากสาเหตุอื่น เป็นต้น
การตรวจหาสาเหตุ ในผู้หญิงที่ประจำเดือนออกมากผิดปกติ จำเป็นต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษา ส่วนผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว หรือผู้ชาย จำเป็นต้องตรวจหาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อย โดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ และอาจต้องส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร