มะเร็งไตในเด็ก
ผศ.นพ.บุญชู พงศ์ธนากุล สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
มะเร็งไตในเด็ก หรือ Wilms’ tumor เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนักในเด็ก จากการศึกษาในประเทศไทยโดยชมรมโรคมะเร็งเด็กแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พศ.2546-2548 พบผู้ป่วยเด็กอายุ 1-15 ปีที่เป็นมะเร็งทั่วประเทศไทย ประมาณ 2,792 ราย โดยพบว่าเป็นมะเร็งไตประมาณ 97 ราย คิดเป็น 3.7%ของมะเร็งที่พบในเด็กทั้งหมด อายุที่พบบ่อยอยู่ระหว่าง อายุ 1-4 ปี เป็นมะเร็งในเด็กที่มีโอกาสรักษาหายขาดสูงมาก ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมตามลักษณะพยาธิวิทยาของเซลล์มะเร็งและการแบ่งระยะการดำเนินโรคที่เหมาะสม และตรวจพบโรคในระยะต้น ๆ ยังไม่มีการแพร่การะจายไปยังอวัยะวะอื่น ๆ
อาการแสดงของผู้ป่วยมะเร็งไตในเด็ก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติอื่น เมื่อแรกวินิจฉัย นอกจากคลำพบก้อนในท้อง มีเพียง 20-30% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ปวดท้อง ปัสสาวะเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะความดันโลหิตสูงได้ประมาณ 25% การแพร่กระจายของโรคมักกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง เยื่อบุช่องท้อง และลุกลามออกนอกไตตามเส้นเลือดในช่องท้องเข้าสู่หัวใจได้ นอกจากนี้ยังพบรายงานว่า มีการแพร่กระจายไปยัง ปอด ตับ กระดูก และสมองได้ ขึ้นกับลักษณะทางพยาธิวิทยาของเซลล์มะเร็ง นั้น ๆ ซึ่งการแบ่งระยะการดำเนินของโรคในผู้ป่วยแต่ละรายก็ขึ้นกับ ลักษณะทางพยาธิวิทยาของเซลล์มะเร็งนั้น ๆ ร่วมกับมะเร็งมีการกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง หรืออวัยวะอื่น ๆ หรือไม่
การรักษาโรคมะเร็งไตในเด็ก ปัจจุบันมีการศึกษาถึงการรักษาอย่างกว้างขวาง และมีแบบแผนการรักษาที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งการรักษานั้นต้องอาศัยการรักษาหลายวิธีร่วมกัน เริ่มต้นด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก และการให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด ถ้ามีการกระจายของโรคไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือลักษณะทางพยาธิวิทยาเป็นชนิดที่มีโอกาสลุกลามสูง จะต้องมีการฉายแสงรังสีรักษาร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม มะเร็งชนิดนี้ ตอบสนองต่อการรักษาดังกล่าวดีมาก โอกาสรักษาหายขาดสูงถึง 80-90% ในผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้น ๆ ยังไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ และลักษณะทางพยาธิวิทยาที่ตอบสนองต่อการรักษาดี เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน จึงยังไม่มีการป้องกัน มีเพียงการเฝ้าระวังว่ามีอาการผิดปกติข้างต้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม มีโรคหรือภาวะบางอย่างที่มีโอกาสพบโรคนี้มากกว่าปกติ เช่น กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของอวัยวะเพศ หรือกลุ่มอาการที่ส่วนของร่างกายสองข้างไม่เท่ากัน
ภาพที่ 1 ลักษณะภาพรังสี ของมะเร็งไตในเด็ก
ภาพที่ 2 มะเร็งไตในเด็ก