ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 กับระบบโลหิตวิทยา
รศ.นพ.เอกรัฐ รัฐฤทธิ์ธำรง
หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 คืออะไร มีผลต่อสุขภาพอย่างไร
PM2.5 หรือชื่อเต็ม Particular Matter 2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (ฝุ่นจิ๋ว) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ อนุภาคที่มีขนาดเล็กนี้สามารถแทรกซึมผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ถุงลม และกระแสเลือดได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบ เช่น
-
ระบบทางเดินหายใจ มีอาการแสบจมูก ไอ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบ ระคายเคือง ภูมิแพ้ มีอาการหายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก ในระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงของโรคถุงลมโป่งพอง และอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด (แม้ไม่ได้สูบบุหรี่) ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจอาจมีอาการกำเริบและรุนแรงมากขึ้น
-
ระบบหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
-
ระบบประสาท มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในเด็กส่งผลให้ไอคิวต่ำลง พัฒนาการช้าลง สมาธิสั้น ซึมเศร้า ส่วนในผู้ใหญ่ มีผลต่อโรคสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (อัมพฤกษ์ อัมพาต)
-
ระบบผิวหนัง ระคายเคืองผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นโรคผื่นคันหรือภูมิแพ้ผิวหนัง
-
ระบบตา เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบ ทำให้ระคายเคือง ตาแห้ง ตาแดง แสบตา คันตา
ฝุ่นจิ๋ว PM2.5มีผลต่อระบบโลหิตวิทยาอย่างไรบ้าง จะมีอาการอย่างไร
การศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่นจิ๋ว PM2.5กับระบบโลหิตวิทยานั้นยังมีไม่มากนัก แต่ก็มีหลักฐานว่าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นี้มีผลต่อทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดและระบบการแข็งตัวของเลือด โดย
-
เม็ดเลือดแดง พบว่าทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง เนื่องจากมีการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้นแล้วไปกดการสร้างเม็ดเลือดแดง แต่ผลไม่มากนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการของภาวะซีด
-
เม็ดเลือดขาว พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเนื่องจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดปกติได้ลดลงได้แก่ ซีด มีไข้ มีจุดเลือดออกตามตัว
-
เกล็ดเลือดและระบบการแข็งตัวของเลือด พบว่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5ทำให้มีการกระตุ้นเกล็ดเลือดและระบบการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอุดตันทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ อาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตัน เช่น หลอดเลือดแดงหัวใจอุดตัน มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หลอดเลือดแดงสมองอุดตัน มีอาการชาหรืออ่อนแรงเฉียบพลัน หลอดเลือดแดงที่ปอดอุดตัน มีอาการหอบเหนื่อย หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน มีอาการขาบวมข้างเดียว เป็นต้น
การป้องกันฝุ่นจิ๋ว PM2.5
เนื่องจากฝุ่นจิ๋ว PM2.5 นั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบรวมทั้งระบบโลหิตวิทยาด้วย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่มีปัญหา PM2.5 ควรปฏิบัติดังนี้
-
ติดตามและตรวจสอบระดับคุณภาพอากาศก่อนการทำงานหรือท่องเที่ยวภายนอกอาคาร ผ่าน website หรือ application ต่าง ๆ
-
หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับ สีส้ม หรือ สีแดงขึ้นไป ให้สวมหน้ากากชนิด N95 หรือหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นอย่างถูกต้อง เมื่อออกไปนอกอาคาร จำกัดเวลาทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน
-
เมื่ออยู่ในบ้านหรืออาคาร ให้ปิดประตู หน้าต่างให้สนิทเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นพัดเข้ามา เปิดเครื่องฟอกอากาศ ทำความสะอาดบ้าน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
-
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหืด ภูมิแพ้ ควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม หากมีอาการผิดปกติเช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์
โดยสรุปฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มีผลต่อระบบโลหิตวิทยา โดยเฉพาะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวได้
รูปที่ 1 ผลการตรวจวัดระดับฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่แสดงผ่านระบบ application Chiang Mai Air Quality Health Index (CMAQHI)
รูปที่ 2 ภาพเมืองเชียงใหม่ในสภาวะปกติ
(ภาพจากคุณสุดารัตน์ เมืองเจริญ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่)
รูปที่ 3 ภาพเมืองเชียงใหม่ในสภาวะที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจิ๋ว PM2.5
(ภาพจากคุณสุดารัตน์ เมืองเจริญ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่)
เผยแพร่เมื่อ 24 กรกฎาคม 2566