การบริจาคเกล็ดเลือดคืออะไร ผู้บริจาคต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
นพ.อภิสิทธิ์ ทองไทยสิน
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
เกล็ดเลือด (platelet) คือส่วนประกอบของเลือดชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก มีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด และช่วยอุดรอยฉีกขาดของหลอดเลือด ค่าปกติของจำนวนเกล็ดเลือดในคนทั่วไปมีค่าประมาณ 140,000 – 400,000ต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบากศ์มิลลิเมตร (140,000 – 400,000/mm3) ในผู้ป่วยที่มีค่าจำนวนเกล็ดเลือดต่ำมาก (ต่ำกว่า 10,000 /mm3 หรือ 20,000 /mm3 หากมีไข้ร่วมด้วย)อาจมีเลือดออกเองและเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับเกล็ดเลือด (platelet transfusion) เพื่อป้องกันภาวะเลือดออก นอกจากนั้นเกล็ดเลือดยังใช้ทดแทนในผู้ป่วยที่มีเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และในผู้ป่วยผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดส่วนใหญ่ต้องมีค่าจำนวนเกล็ดเลือดไม่ต่ำกว่า 50,000 /mm3 ก่อนผ่าตัด และหากผ่าตัดตาหรือสมอง ต้องมีค่าจำนวนเกล็ดเลือดที่สูงถึง 100,000 /mm3 เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกในระหว่างการผ่าตัด
จะเห็นได้ว่าเกล็ดเลือดมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แล้วผู้บริจาคโลหิตจะสามารถบริจาคเกล็ดเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง ในปัจจุบันสามารถบริจาคได้ 2 วิธี คือ บริจาคโลหิตรวม (whole blood) และ บริจาคเกล็ดเลือด (plateletpheresis)
การบริจาคโลหิตรวม
คือการบริจาคโลหิตแบบทั่วไป ใช้เวลาบริจาคประมาณ 5-10นาที สามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน โดยโลหิตรวมเมื่อผ่านกระบวนการปั่นจะแยกออกได้เป็น 3ผลิตภัณฑ์โลหิตเพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยซึ่งมีความต้องการใช้ต่างกัน ประกอบด้วย เม็ดเลือดแดง (red blood cells) เกล็ดเลือด และพลาสมา (fresh frozen plasma)ซึ่งเกล็ดเลือดที่ได้จากวิธีนี้จะต้องนำไปรวมกับเกล็ดเลือดจากผู้บริจาคโลหิตที่มีหมู่เลือดเดียวกันคนอื่นอีกรวม 4 คน เพื่อให้ได้โดสเพียงพอกับผู้ป่วยผู้ใหญ่ 1 คน (adult therapeutic dose)เรียกเกล็ดเลือดชนิดนี้ว่า leukocyte-depleted pooled platelet concentrate (LDPPC)
การบริจาคเกล็ดเลือด
คือการบริจาคโลหิตเฉพาะส่วน โดยใช้เครื่องอัตโนมัติบริจาคโลหิตเฉพาะส่วน(blood cell separator) แยกเกล็ดเลือดออกจากเม็ดเลือดแดง และพลาสมา เมื่อได้เกล็ดเลือดแล้ว ส่วนประกอบโลหิตอื่นๆจะถูกคืนเข้าสู่ร่างกาย เครื่องอัตโนมัติบริจาคโลหิตเฉพาะส่วนจะเก็บไปแค่เกล็ดเลือดเท่านั้น ใช้เวลาบริจาคประมาณ 1-2 ชั่วโมง สามารถบริจาคเกล็ดเลือดได้ทุก 1 เดือน เรียกเกล็ดเลือดชนิดนี้ว่า single donor platelet (SDP)มีโดสเพียงพอกับผู้ป่วยผู้ใหญ่ 1 คน ไม่ต้องรวมกับเกล็ดเลือดจากผู้บริจาคโลหิตคนอื่นอีก
ผู้บริจาคเกล็ดเลือดต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ผู้บริจาคเกล็ดเลือดนอกจากจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของผู้บริจาคโลหิตรวมแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม ดังนี้
1.เพศชาย เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะปอดได้รับบาดเจ็บเฉียบพลัน (transfusion-related acute lung injury, TRALI)ในผู้รับเกล็ดเลือด เนื่องจาก TRALIเกิดจากแอนติบอดีที่มีความจำเพาะต่อ human leukocyte antigens (HLA) และ human neutrophil antigens (HNA) ซึ่งมักพบในพลาสมาของผู้บริจาคโลหิตเพศหญิงที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน
2. อายุ 17 ปีบริบูรณ์ – 60 ปี ถ้าบริจาคเกล็ดเลือดครั้งแรก ต้องมีอายุไม่เกิน 50 ปี
3. น้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัมขึ้นไป
4. มีค่าเกล็ดเลือดมากกว่า 200,000 /mm3
5. งดรับประทานยาแอสไพริน และยาในกลุ่ม Non-steroidal anti-inflammatory drug (NSAIDs) อย่างน้อย 48ชั่วโมงก่อนการบริจาคเกล็ดเลือด
6. งดรับประทานขมิ้นชัน และอาหารเสริม เช่น น้ำมันปลา อย่างน้อย 72 ชั่วโมงก่อนการบริจาคเกล็ดเลือด เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการทำงานของเกล็ดเลือด
7. ผู้บริจาคเกล็ดเลือดจะต้องเคยมีประวัติการบริจาคโลหิต มาก่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเว้นการบริจาคไปไม่เกิน 1 ปี
8. ผู้บริจาคเกล็ดเลือดจะต้องมีเส้นเลือดที่ข้อพับแขนที่ใหญ่ มองเห็นชัดเจน
เกล็ดเลือดชนิด single donor platelet (SDP) เก็บในตู้เก็บเกล็ดเลือดที่เขย่าตลอดเวลา ที่อุณหภูมิ 20-24 °C มีอายุเก็บได้ 7 วัน
เครื่องอัตโนมัติบริจาคโลหิตเฉพาะส่วน (blood cell separator) ที่ใช้ในการบริจาคเกล็ดเลือด
คุณสมบัติพิเศษข้อหนึ่งของผู้บริจาคเกล็ดเลือดคือต้องมีเส้นเลือดที่ข้อพับแขนที่ใหญ่ มองเห็นชัดเจน